บรรยากาศตอนกลางคืนในช่วงฤดูหนาวเป็นห้วงเวลาที่ทำให้คนที่ได้มองขึ้นไปบนท้องฟ้ามีความสุข เนื่องจากสภาพท้องฟ้าที่ไม่มีเมฆหมอกรบกวน จึงทำให้เราสามารถมองเห็นดาวตกบนท้องฟ้าได้ และในหลายๆ ช่วงของปีก็จะมีดาวตกที่ลักษณะเหมือนกำลังพุ่งออกมาจากบริเวณเดียวกันบนท้องฟ้า เรียกว่า “ฝนดาวตก” (Meteor shower)
ฝนดาวตกเกิดจากการที่วงโคจรของโลกเดินทางผ่านเข้าไปในเส้นทางของสะเก็ดดาว ที่หลุดมาจากดาวหาง ซึ่งจะทิ้งเศษซากก้อนหิน และฝุ่นผงมากมายไว้ในอวกาศ จากนั้นฝุ่นผงเหล่านี้ก็จะตกลงมาในชั้นบรรยากาศตามแรงดึงดูดของโลก ดาวตกที่เกิดจากสะเก็ดดาวมีด้วยกันหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีลักษณะที่มองเห็น และจำนวนความถี่ของการตกแตกต่างกัน ตามองค์ประกอบและความเร็วของสะเก็ดดาว บางกลุ่มอาจมีอัตราเร็วต่ำ แต่ก็ถือเป็นฝนดาวตกได้เนื่องจากมีแหล่งกำเนิดที่สังเกตได้แล้วดูเหมือนพุ่งออกมาจากจุดหนึ่งบนท้องฟ้า จุดนั้นเรียกว่า “จุดกระจายฝนดาวตก” (Radiant) เรามักเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาว หรือดาวที่อยู่ในบริเวณจุดกระจายฝนดาวตก
“ฝนดาวตกสิงโต” เป็นฝนดาวตกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญ จุดกระจายฝนดาวตกชุดนี้จะอยู่บริเวณส่วนหัวของกลุ่มดาวสิงโต ลักษณะคล้ายเคียว ผู้เชี่ยวชาญการพยากรณ์ดาวตกได้คาดหมายว่าฝนดาวตกสิงโตในปีนี้จะมีอัตราการตกสูงสุดมากถึง 100 ดวงต่อชั่วโมง หรือประมาณ 1-2 ดวงต่อนาที ในเวลาประมาณ 04.00 น. ของวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน 2552 ตามเวลาในประเทศไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น