...เป็นแค่หนอนไร้ค่า ที่หลงลืมตาเกิดมาท่ามกลางดอกไม้ ร่างกายผอมบาง ดมกลิ่นหอมเย้ายวนหลากสีชี้ชวนให้หลงรักไม่ลาร้าง หลงรักเจ้าช่อดอกไม้ทั้งใจ… ฟังข้อความของเพลงท่อนนี้แล้วหลายคนคงจำกันได้ว่าเป็นเพลงหนอนผีเสื้อ (ของศิลปิน หนูมิเตอร์) หลังจากได้ฟังแล้วทำให้นึกถึงวันที่ได้เดินสำรวจป่าในแถบอำเภอตาพระยา ระหว่างทางพบหนอนผีเสื้อหลากหลายพันธุ์ (ผู้หญิงหลายๆ คนดูแล้วอาจเกิดอาการกลัวเล็กน้อยถึงปานกลาง)
หนอนผีเสื้อ เป็นตัวอ่อนของผีเสื้อที่แสนสวย อาหารที่หนอนผีเสื้อกินก็คือใบไม้สด ลำตัวของมันจะมีลักษณะเป็นตะปุ่มตะปั่ม หรือ มีขนยาวทั่วทั้งตัว บางชนิดก็มีลายที่เป็นเหมือนลูกตากลมกลม ทั้งนี้เพราะเป็นการป้องกันตัวจากพวกนก หรือ สัตว์ที่จะมาทำร้ายมัน ให้รู้สึกตกใจกลัว (อย่าว่าแต่สัตว์อื่นเลย...คนยังกลัว) บางชนิดจะเป็นตัวสีเขียวมีลายกลมๆ เป็นสีดำๆ (คล้ายกับตัวที่นิยมเอามาเป็นสัญลักษณ์ของเพลงที่มีท่อนร้องท่อนหนึ่งว่า “ชีเมโจได” หนอนผีเสื้อจะเดิน หรือคืบคลานอย่างเชื่องช้า ในช่วงนี้เจ้าหนอนตัวน้อยจะกินและกินอย่างเดียว เมื่อถึงระยะหนึ่งมันจะหยุดกินแล้วก็จะคลายเส้นใยสีขาวบางออกมาห่อหุ้มตัวของมันไว้จนทั่ว เพื่อให้ตัวมันอยู่ข้างในแล้วเกาะติดกับใบไม้ หรือ ลำต้น เรียกอีกอย่างว่า ดักแด้
เมื่อได้ระยะพอเหมาะดักแด้ผีเสื้อก็จะกลายเป็นราชินีแห่งผืนป่าที่แสนสวย (ผีเสื้อตัวเต็มวัย) เป็นสิ่งประดับให้ผืนป่าสีเขียว ผีเสื้อบางชนิดเมื่อโตแล้วก็จะดูดกินแร่ธาตุจากดินโป่งบ้าง จากดอกไม้บ้าง แต่บางชนิดก็ไม่ได้ดูดกินอะไรเลยนอกจากหากินตามแหล่งน้ำอย่างเดียว เช่น ผีเสื้อกลางคืน ทั้งนี้เพราะเมื่อตอนเป็นหนอนผีเสื้อมันได้สะสมอาหารไว้ในตัวจนเต็มที่แล้ว รอเพียงการผสมพันธุ์อย่างเดียว เมื่อผสมพันธุ์เสร็จมันก็จะตายตามอายุขัย
...แค่ใช้น้ำค้างเพื่อพอประทัง ตายังมองชื่นชมแค่เพียงดอกไม้ ไม่เคยคิดมองตัวเอง จนชีวิตเจ้าหนอนก็ตายลงไป...ยอมทำไปแม้ไม่มีใครจะมองเห็น หล่นร่วงลงไปทอดกายเป็นปุ๋ยดิน (แต่ดอกไม้ยังคงงดงามเพราะปุ๋ยดิน)โอ้เจ้าหนอนผีเสื้อไม่เหลือเวลาตามฝันไม่ทันได้เติบโต ไม่ทันโผบินแล้วความรักของมัน ทิ้งเรื่องราวอะไรให้ใครได้ยิน รักที่สร้างสรรค์ไม่ทำร้ายใคร...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น